Thursday, February 02, 2006

“Mae Hong Son Loop”

เมื่อวันที่ 11-15 เมษายน 2548 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวกับเพื่อนรวม 4 คนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยตั้งใจว่าจะเที่ยวตาม hi-light การท่องเที่ยวบนเส้นทางถนนหลักของจังหวัดที่เป็นถนนเส้น 1095 และ 108 ที่เชื่อมต่อกันเป็นเส้นเดียวและวนกลับมายังจุดเริ่มต้นเดิมคือ จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นที่มาของคำว่า Mae Hong Son Loop ข้างต้น ที่กล่าวมานี้ไม่เป็นที่แนะนำเลยครับสำหรับการเดินทางลักษณะนี้ โดยส่วนตัวผมคิดว่าทำให้ไม่สนุกเท่าที่ควร ทั้งที่ตัวเองก็รู้สึกอยู่มากทีเดียว แต่คิดว่าน่าจะดีกว่านี้หากไม่เน้นการทำ loop ที่ว่ามากเกินไป

จุด hi-light หลักของ trip นี้ก็คือ เมืองปาย และเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งก็อีกนั่นแหละคงจะดีกว่านี้แน่หากไปเยี่ยมเยียนในช่วงฤดูหนาว แต่เอาเหอะไปครั้งนี้ผมได้ข้อคิดที่จะขอบันทึกไว้สองสามข้อดังนี้ครับ (ซึ่งไม่เกี่ยวกับการไปเที่ยวครั้งนี้นัก)

1. ผมพบว่าผมเกลียดอาชีพพ่อค้าหรือนักธุรกิจที่หากำไรมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า
ผมเกิดอยู่ดีๆ ช่วงนี้ไม่ชอบอาชีพพ่อค้านักธุรกิจเข้าไส้เหลือกำลัง เหตุผลก็เพราะสาเหตุส่วนตัวที่ผมต้องเลิกกับแฟนเพราะผมไม่สามารถช่วยส่งเสริมแผนการธุรกิจของเขาได้ดีนักเมื่อเทียบกะอีกคนหนึ่ง โดยเฉพาะผมมีความตั้งใจจะเป็นอาจารย์ด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ ทำให้เราเข้ากันไม่ได้ นี่ยังไม่รวมถึงดวงที่ไม่สมพงศ์กันอีกนะครับ
“ของซื้อของขายจะมายกกันให้ง่ายๆ ได้ที่ไหน”
คำพูดนี้จึงแวะเวียนเข้ามาในความคิด ซึ่งครั้งนึงก็ได้เคยทบทวนและคิดว่ามันเริ่มจะไม่สมเหตุสมผลซักเท่าใดนัก ทั้งที่แต่ก่อนตอนเด็กๆ นั้นออกจะเห็นดีเห็นงามกับคำๆ นี้และเห็นว่าเป็นความจริงอย่างที่สุด แต่วันนี้ผมเห็นว่ามันเหลวไหล จอมปลอม และเป็นคำอ้าง สักแต่อ้างไปก็เท่านั้น ตามความคิดแล้วคำนี้เป็นคำอ้างจากพวกพ่อค้าคนจีนที่ก็อ้างเพื่อจะเอาของค้าขายทำกำไร ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไร
พาลทำให้ผมคิดต่อไปว่านี่เอง ความที่พวกพ่อค้าหากำไรเป็นนิจ ไม่มีคุณค่าอะไรทางสังคม ในที่นี้หมายถึงคุณค่าที่เปรียบเทียบได้กับ ความเสียสละ ความดี ความอดทน หรือคุณธรรมอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน พ่อค้าจึงเป็นชนชั้นที่ไม่มีเกียรติ เมื่อเทียบกับ กษัตริย์ นักรบ พระ นักบวช หรือพราหมณ์ ในวรรณะของอินเดีย พาลนึกต่อไปถึงศาสนาอิสลามที่กำหนดให้การคิดดอกเบี้ยเป็นบาป (อันนี้ฟังมาไม่รู้จริงหรือป่าว) ทำให้นึกทึ่งในความรอบรู้ และกุศโลบายอันแยบยล
โดยสรุปก็คือ ผมจึงเกิดรังเกียจอาชีพพ่อค้าและคล้อยตามกับความเห็นของคนสมัยก่อนที่เคยได้ฟังมาว่ารังเกียจอาชีพพ่อค้าว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติเป็นอย่างมาก

2. ผมพบว่าควรจะได้มีการส่งเสริมองค์กรหรือนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรให้สามารถเติบโตและมีศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมของตนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ จนอาจจะถือให้เป็นยุทธศาสตร์หลักของชาติเลยก็ว่าได้ เพ้อเข้าไปนั่น แต่ผมก็คิดอย่างนั้นจริงๆ
ข้อนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากผมได้ไปสะกิดใจกับคำพูดของเพื่อนคนหนึ่งในทริปนี้ที่พูดว่า
“คนบ้านนอกนั้นหากไม่เข้ามาในเมืองหางานทำแล้ว การอยู่ที่บ้านของพวกเขานั้นเป็นเพียงการตื่นขึ้นมาหายใจเท่านั้น อย่างมากก็ไปตกปลามาตัวหนึ่งทำกับข้าว หรือปลูกต้นไม้ ทำไร่ นิดหน่อย”
ผมจึงสำรวจความคิดตัวเองแล้วพบว่า หากเป็นเมื่อก่อนผมก็จะเห็นด้วยกับความเห็นนี้ แต่ตอนนี้ผมเกิดสงสัยว่าการตื่นขึ้นมาหายใจมันไม่ดีตรงไหน การทำอะไรที่คนบางคนเห็นว่าเล็กน้อยด้อยค่า เช่นตกปลาตัวเดียว หรือทำไร่นิดหน่อย ที่ว่ามันไม่ดีจริงๆ หรือป่าว ซึ่งผมก็พาลเข้าใจไปเองว่าคนพูดที่เป็นคนอาชีพพ่อค้าสืบเนื่องมาจากข้อแรกคงเห็นดีกับการทำงานในเมือง หรือตกปลาก็ควรจะตกให้ได้คราวละมากๆ ทำไร่ก็ทำให้ได้ผลผลิตที่มากทำกำไรอะไรทำนองนี้
ตอนนั้นผมไม่ได้แย้งอะไรเพื่อนผมคนนั้นเลย และคิดว่าคงไม่มีประโยชน์อะไรเพราะความเห็นที่แตกต่างอย่างนี้หาจุดสรุปได้ก็เพียงความแตกต่างเหมือนเดิม ผมจึงมานั่งคิดเองคนเดียวว่าไม่เห็นด้วย และคิดว่าไม่ถูกต้องที่ไปตีค่าให้ราคาการกระทำที่ว่าให้ด้อยค่าเช่นนั้น แต่กลับเห็นว่าการกระทำที่ด้อยค่าเช่นนั้นกับสอดคล้องกับอารยธรรมแบบยูโทเปีย (มีเกร็ดเล็กๆ ว่ามีการเรียกเมืองปายว่า “ยูโทปาย” ครับ) ที่บ้านเมืองมีความสงบสุข ไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขันทรัพยากรมีให้ใช้เหลือเฟือ
ข้อนี้เข้าใจว่ามีหลายคนต้องแย้งว่ายูโทเปียอีกแล้ว มันทำได้เพราะคนมันน้อยหรอก ถ้าคนเยอะต้องแก่งแย่งแข่งขันการใช้ทรัพยากร การทำอย่างนั้นไม่ทันคนอื่นๆ เขาหรอก แต่ผมในตอนนี้กลับมองว่ายูโทเปียไม่ใช่เรื่องเกินจริงนะครับ มันออกจะสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงซะด้วย เราไม่มีความจำเป็นต้องโหมสูบทรัพยากรมาใช้
ในขณะที่คนเมืองสูบเอาทรัพยากรส่วนใหญ่ไปใช้ จะอธิบายอย่างไรว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ หรือว่ามีประสิทธิภาพสำหรับคนไม่กี่คน ข้อนี้คงเถียงกันได้ไม่จบ จึงขอสรุปตรงที่เห็นว่า
“เพียงการตื่นหายใจก็มีคุณค่ามากกว่าพวกกอบโกยอย่างพ่อค้าเป็นต้นครับ”

3. ผมพบว่าการส่งเสริมการค้า การค้าเสรี การกระจายรายได้ และ GDP ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยส่วนรวมทั้งหมดอย่างที่สุด และไม่เกี่ยวข้องกับความสงบสุขของประชาชนทั้งหลายอีกด้วย
ข้อนี้ขอพูดสั้นๆ ก็เพราะสาเหตุที่คนทุกคนนั้นไม่สามารถพิจารณาได้ว่ามีความสามารถในการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรและผลิตได้เท่ากันจริง fair trade ไม่อาจเกิดขึ้นจาก free trade ได้เลย เพราะฉะนั้นประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถพิจารณาได้ว่ามีคุณมีโทษตามดัชนีค่าวัดหยาบกระด้างเช่นนั้น

นอกจากนี้ยังพาลนึกไปถึงเรื่อง market ที่พวกพ่อค้าต้องใช้ เกิดให้สงสัยว่าจะดีมั้ยน้อ หากนักวิชาการทาง market หรือคนที่เก่งๆ ด้านนี้จะมารวมตัวกันทำงานสร้าง market ที่เป็นประโยชน์มากกว่าการขายของ กล่าวคือ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้าง brand ทำ market ที่จะทำให้ประชาชนทุกคนเห็นดีเห็นงามในการทำความดี ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จะสามารถส่งผลลดอาชญากรรม ยาเสพติด และอุบัติเหตุได้หรือไม่

P. Bunara
18 เมษายน 2548
“วิชากฎหมาย”

ประเด็นสำคัญที่สุดในการศึกษาวิชาความรู้ไม่ว่าจะสาขาใดก็ตาม สำหรับผมแล้ว คือ การเข้าใจความคิดรวบยอดหรือหัวใจของการศึกษานั้นๆ เป็นอันดับแรก เช่น เมื่อมีคนถามว่าคุณเรียนวิชานั้นวิชานี้เขาสอนอะไร? เรียนแล้วได้อะไร? หรือคำถามพื้นฐานเช่น ที่คุณเรียนมันคืออะไร? เริ่มต้นแล้วมันควรจะได้มีคำอธิบายที่สั้น กระชับ ได้ใจความ และพุ่งตรงเข้าสู่ประเด็นของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องฟังแล้วพยักหน้ารับว่า “ใช่แล้ว ! สิ่งนี้คือหัวใจของวิชา” เหมือนกับที่แอร์ดิช[1] พูดในทำนองเดียวกันว่า “มันถูกต้องเป็นจริงเหมือนตรงออกมาจากพระคัมภีร์”

ส่วนตัวแล้วผมเคยอยากเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์และเคยได้รู้ว่าวิชานี้ คือ “การศึกษาเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแก่ความต้องการที่มีอย่างไร้ขีดจำกัด” อันนี้ผมเขียนมาจากความทรงจำซึ่งอันคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็บอกได้ว่านี่แหละคือหัวใจของวิชา ตรงออกมาจากพระคัมภีร์ แต่ก็ยังไม่เคยมีโอกาสได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างจริงจังเลย ได้แต่ศึกษาด้วยตัวเองมากกว่าเป็นครั้งคราว ทำนองเดียวกันวิชาทางวิศวกรรม ก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อมนุษย์ เป็น application ของ pure science อีกทีหนึ่ง (อันนี้ผมพูดเองอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด)

อย่างไรก็ตาม ผมมีโอกาสได้เรียนวิชานิติศาสตร์ ซึ่งก็เป็นวิชาที่ผมรักและให้ความตั้งใจศึกษาอย่างมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองมาก่อน แต่มีอยู่วันนี้เองที่ได้มีโอกาสคุยถึงเรื่องการศึกษาวิชานิติศาสตร์นี้แล้วถามว่ามันคืออะไร ผมกลับตอบไม่ได้ คิดอยู่นาน รู้สึกเป็นความบกพร่อง และทนได้ยาก (เป็นทุกข์) แต่จู่ๆ ผมกลับได้คำตอบที่คิดว่ากระชับ ได้ใจความ เหมือนตรงออกมาจากพระคัมภีร์ ซึ่งพี่ที่คุยด้วยเขาได้พูดขึ้นมาเป็นการช่วยทะลวงความเขลา และเปิดสมองอย่างประหลาด เขาพูดอย่างไม่ต้องคิดหนักว่า

“วิชานิติศาสตร์ เป็น การศึกษาแนวทางและกระบวนการเพื่ออำนวยความยุติธรรม”

สำหรับผมแล้วมันตรงออกมาจากพระคัมภีร์จริงๆ (ผมใช้คำนี้ที่ยืมมาจากแอร์ดิชมากหน่อยเพราะคิดว่าฟังแล้วมันให้ความหมายได้ตรงดี แต่ผมยังคงเป็นพุทธนะครับ) และคิดว่านี่แหละใช่เลยผมจะยึด concept นี้ใช้ในการศึกษาและทำงานต่างๆ ต่อไปในอนาคต (หากไม่มีแนวทางไหน หรือความคิดมาเปลี่ยนใจนะครับ ซึ่งคิดว่าไม่มีแล้วล่ะ มันออกจะตรงออกมาจากพระคัมภีร์ขนาดนั้น)

ยังมีประเด็นอีกนิดหน่อยที่อยากบันทึกไว้คือ ถ้าหากความหมายเป็นอย่างที่ว่าแล้ว ก็ควรจะได้กลับไปสำรวจตรวจสอบความรู้ตามวิชานิติปรัชญาที่เคยเรียนมา[2] ว่ากล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอย่างไร (วิชานี้ก็เป็นวิชาที่ผมชอบมากเลย) โดยนิติปรัชญาได้มีการแบ่งประเภทความรู้ของวิชานิติศาสตร์ไว้ตามสาขาปรัชญาต่างๆ ได้แก่
อภิปรัชญา (Metaphysics) ศึกษาว่ากฎหมายที่แท้จริงคืออะไร
ญาณปรัชญา (Epistemology) ศึกษาว่าจะรู้กฎหมายได้อย่างไร ตรงไหน ใครเป็นผู้กำหนดกฎหมาย
จริยปรัชญา (Ethics) ศึกษาว่ากฎหมายดีหรือไม่ดีอย่างไร ยุติธรรมหรือไม่ อันนี้แหละที่ตรงกับความหมายที่กล่าวไว้ เพราะต้องศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมเป็นหลัก เป็นการประเมินคุณค่าของกฎหมาย ซึ่งเป็นอุดมคติอยู่มากเหมือนกัน
ซิเซโรกล่าวว่า “ความยุติธรรมคือ เจตจำนงอันแน่วแน่ตลอดกาลที่จะพึงให้แก่ทุกคนในส่วนที่เขาควรจะได้”

นอกจากนี้ยังมีนิติปรัชญาทางเลือก[3] ซึ่งมีแนวความคิดที่น่าสนใจอันหนึ่งกล่าวว่า

“กฎหมายเป็นเรื่องของการเมือง”

ข้อนี้ผมเคยทบทวนอยู่หลายครั้งแล้วก็พบว่ามีความถูกต้องในแง่ที่เป็นนิติศาสตร์ตามข้อเท็จจริง[4] กล่าวคือ พิจารณาดูว่ากฎหมายเกิดขึ้นมาได้อย่างไรตามประวัติศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องของการเมืองซะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคทุนนิยมประชาธิปไตยอย่างในปัจจุบัน ตามความหมายนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ใช่คำสั่ง ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดความถูกผิด แต่เป็นเรื่องของการเมืองล้วนๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา อันนี้ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากว่าหากได้มีการพัฒนาต่อยอดต่อไปแล้ว กฎหมายจะกลายเป็นเครื่องมือของนักรัฐศาสตร์เป็นแน่แท้ เป็นการลดสถานะจากที่เคยคัดคานความเห็นระหว่างนักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์กันมาก่อน

ที่กล่าวมาเป็นเนื้อหาจากที่เรียนมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับบันทึกนี้ แต่ก็ยังเห็นว่ามีความไม่สมบูรณ์อยู่มาก ควรที่จะได้ยกเอาคำสอนของท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) เรื่อง นิติศาสตร์แนวพุทธ[5] ซึ่งผมเห็นว่า ครอบคลุมมากกว่า และตรงเข้าสู่ประเด็นอย่างมากที่สุดมากล่าวไว้ด้วย โดยท่านได้เปรียบเทียบกฎหมายกับวินัย ซึ่งในทางพุทธศาสนา วินัย แปลว่า การจัดตั้งวางระบบแบบแผน และสรุปเป็นหลักการพื้นฐานที่ตรงกับเนื้อหาในบันทึกนี้ว่า

“กฎหมาย ต้องมาจากธรรม ต้องชอบธรรม และต้องเพื่อธรรม”
“จุดหมายของสังคม คือ จุดหมายของกฎหมาย แต่สุดท้ายจุดหมายของกฎหมายต้องสนองจุดหมายของชีวิตคน”
และที่ผมเห็นว่าเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดคือ
“กฎหมายเป็นเครื่องจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผล มีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย”

ซึ่งในความหมายนี้อาจกล่าวได้อีกอย่างว่า การมีกฎหมายมีไว้เพื่อจัดการปกครอง เพื่อทำให้เกิดสังคมที่ดี ที่คนมีโอกาสพัฒนาชีวิตที่ดีงาม ซึ่งตามความหมายนี้เองที่ผมเห็นว่าเป็นความหมายของความยุติธรรมที่วิชากฎหมายจะต้องแสวงหา

P. Bunara
23 เมษายน 2548

[1] นักคณิตศาสตร์ชาวฮังการีที่มีความสามารถได้รับการยอมรับสูงสุด จนมีการจัดเลขลำดัลแอร์ดิช ซึ่งหมายถึง คนที่ได้เคยทำงานร่วมกับแอร์ดิช เลข 1 หมายถึง คนที่เคยทำงานร่วมกับเขาโดยตรง เลข 2 หมายถึง คนที่เคยทำงานร่วมกับคนที่เคยทำงานร่วมกับเขา เป็นต้น จากหนังสือเรื่อง คนที่รักเพียงตัวเลข (A man who love only numbers)
[2] อ้างอิงกับวิชานิติปรัชญาและหนังสือของ อ.สมยศ เชื้อไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[3] อ้างจากหนังสือนิติปรัชญาทางเลือกของ อ.สุปรีชา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[4] นิติปรัชญา พิจารณาเฉพาะในแง่นิติศาสตร์ได้แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ นิติศาสตร์ในแง่แบบแผน (Legal Science of Norms) นิติศาสตร์ในแง่ข้อเท็จจริง (Legal Science of Facts) และนิติศาสตร์ในแง่คุณค่า (Legal Science of Value)
[5] โดยท่านกล่าวไว้ว่าตามความหมาย นิติศาสตร์ หมายถึง ศาสตร์แห่งการนำ หรือจัดดำเนินการ ซึ่งอาจขยายความหมายว่าเป็นศาสตร์แห่งการนำคน หรือการนำกิจการของรัฐหรือการทำหน้าที่ของผู้นำ ความหมายไปในทำนองเดียวกันกับ รัฐศาสตร์ ซึ่งก็มีคำอีกคำหนึ่งที่ตรงกับเรื่องของกฎหมายมากกว่า คือ ธรรมศาสตร์ ซึ่งแปลว่า วิชาที่ว่าด้วยหลักการ เพราะ ธรรม แปลว่า หลักการ