Thursday, February 02, 2006

“วิชากฎหมาย”

ประเด็นสำคัญที่สุดในการศึกษาวิชาความรู้ไม่ว่าจะสาขาใดก็ตาม สำหรับผมแล้ว คือ การเข้าใจความคิดรวบยอดหรือหัวใจของการศึกษานั้นๆ เป็นอันดับแรก เช่น เมื่อมีคนถามว่าคุณเรียนวิชานั้นวิชานี้เขาสอนอะไร? เรียนแล้วได้อะไร? หรือคำถามพื้นฐานเช่น ที่คุณเรียนมันคืออะไร? เริ่มต้นแล้วมันควรจะได้มีคำอธิบายที่สั้น กระชับ ได้ใจความ และพุ่งตรงเข้าสู่ประเด็นของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องฟังแล้วพยักหน้ารับว่า “ใช่แล้ว ! สิ่งนี้คือหัวใจของวิชา” เหมือนกับที่แอร์ดิช[1] พูดในทำนองเดียวกันว่า “มันถูกต้องเป็นจริงเหมือนตรงออกมาจากพระคัมภีร์”

ส่วนตัวแล้วผมเคยอยากเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์และเคยได้รู้ว่าวิชานี้ คือ “การศึกษาเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแก่ความต้องการที่มีอย่างไร้ขีดจำกัด” อันนี้ผมเขียนมาจากความทรงจำซึ่งอันคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็บอกได้ว่านี่แหละคือหัวใจของวิชา ตรงออกมาจากพระคัมภีร์ แต่ก็ยังไม่เคยมีโอกาสได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างจริงจังเลย ได้แต่ศึกษาด้วยตัวเองมากกว่าเป็นครั้งคราว ทำนองเดียวกันวิชาทางวิศวกรรม ก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อมนุษย์ เป็น application ของ pure science อีกทีหนึ่ง (อันนี้ผมพูดเองอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด)

อย่างไรก็ตาม ผมมีโอกาสได้เรียนวิชานิติศาสตร์ ซึ่งก็เป็นวิชาที่ผมรักและให้ความตั้งใจศึกษาอย่างมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองมาก่อน แต่มีอยู่วันนี้เองที่ได้มีโอกาสคุยถึงเรื่องการศึกษาวิชานิติศาสตร์นี้แล้วถามว่ามันคืออะไร ผมกลับตอบไม่ได้ คิดอยู่นาน รู้สึกเป็นความบกพร่อง และทนได้ยาก (เป็นทุกข์) แต่จู่ๆ ผมกลับได้คำตอบที่คิดว่ากระชับ ได้ใจความ เหมือนตรงออกมาจากพระคัมภีร์ ซึ่งพี่ที่คุยด้วยเขาได้พูดขึ้นมาเป็นการช่วยทะลวงความเขลา และเปิดสมองอย่างประหลาด เขาพูดอย่างไม่ต้องคิดหนักว่า

“วิชานิติศาสตร์ เป็น การศึกษาแนวทางและกระบวนการเพื่ออำนวยความยุติธรรม”

สำหรับผมแล้วมันตรงออกมาจากพระคัมภีร์จริงๆ (ผมใช้คำนี้ที่ยืมมาจากแอร์ดิชมากหน่อยเพราะคิดว่าฟังแล้วมันให้ความหมายได้ตรงดี แต่ผมยังคงเป็นพุทธนะครับ) และคิดว่านี่แหละใช่เลยผมจะยึด concept นี้ใช้ในการศึกษาและทำงานต่างๆ ต่อไปในอนาคต (หากไม่มีแนวทางไหน หรือความคิดมาเปลี่ยนใจนะครับ ซึ่งคิดว่าไม่มีแล้วล่ะ มันออกจะตรงออกมาจากพระคัมภีร์ขนาดนั้น)

ยังมีประเด็นอีกนิดหน่อยที่อยากบันทึกไว้คือ ถ้าหากความหมายเป็นอย่างที่ว่าแล้ว ก็ควรจะได้กลับไปสำรวจตรวจสอบความรู้ตามวิชานิติปรัชญาที่เคยเรียนมา[2] ว่ากล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอย่างไร (วิชานี้ก็เป็นวิชาที่ผมชอบมากเลย) โดยนิติปรัชญาได้มีการแบ่งประเภทความรู้ของวิชานิติศาสตร์ไว้ตามสาขาปรัชญาต่างๆ ได้แก่
อภิปรัชญา (Metaphysics) ศึกษาว่ากฎหมายที่แท้จริงคืออะไร
ญาณปรัชญา (Epistemology) ศึกษาว่าจะรู้กฎหมายได้อย่างไร ตรงไหน ใครเป็นผู้กำหนดกฎหมาย
จริยปรัชญา (Ethics) ศึกษาว่ากฎหมายดีหรือไม่ดีอย่างไร ยุติธรรมหรือไม่ อันนี้แหละที่ตรงกับความหมายที่กล่าวไว้ เพราะต้องศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมเป็นหลัก เป็นการประเมินคุณค่าของกฎหมาย ซึ่งเป็นอุดมคติอยู่มากเหมือนกัน
ซิเซโรกล่าวว่า “ความยุติธรรมคือ เจตจำนงอันแน่วแน่ตลอดกาลที่จะพึงให้แก่ทุกคนในส่วนที่เขาควรจะได้”

นอกจากนี้ยังมีนิติปรัชญาทางเลือก[3] ซึ่งมีแนวความคิดที่น่าสนใจอันหนึ่งกล่าวว่า

“กฎหมายเป็นเรื่องของการเมือง”

ข้อนี้ผมเคยทบทวนอยู่หลายครั้งแล้วก็พบว่ามีความถูกต้องในแง่ที่เป็นนิติศาสตร์ตามข้อเท็จจริง[4] กล่าวคือ พิจารณาดูว่ากฎหมายเกิดขึ้นมาได้อย่างไรตามประวัติศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องของการเมืองซะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคทุนนิยมประชาธิปไตยอย่างในปัจจุบัน ตามความหมายนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ใช่คำสั่ง ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดความถูกผิด แต่เป็นเรื่องของการเมืองล้วนๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา อันนี้ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากว่าหากได้มีการพัฒนาต่อยอดต่อไปแล้ว กฎหมายจะกลายเป็นเครื่องมือของนักรัฐศาสตร์เป็นแน่แท้ เป็นการลดสถานะจากที่เคยคัดคานความเห็นระหว่างนักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์กันมาก่อน

ที่กล่าวมาเป็นเนื้อหาจากที่เรียนมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับบันทึกนี้ แต่ก็ยังเห็นว่ามีความไม่สมบูรณ์อยู่มาก ควรที่จะได้ยกเอาคำสอนของท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) เรื่อง นิติศาสตร์แนวพุทธ[5] ซึ่งผมเห็นว่า ครอบคลุมมากกว่า และตรงเข้าสู่ประเด็นอย่างมากที่สุดมากล่าวไว้ด้วย โดยท่านได้เปรียบเทียบกฎหมายกับวินัย ซึ่งในทางพุทธศาสนา วินัย แปลว่า การจัดตั้งวางระบบแบบแผน และสรุปเป็นหลักการพื้นฐานที่ตรงกับเนื้อหาในบันทึกนี้ว่า

“กฎหมาย ต้องมาจากธรรม ต้องชอบธรรม และต้องเพื่อธรรม”
“จุดหมายของสังคม คือ จุดหมายของกฎหมาย แต่สุดท้ายจุดหมายของกฎหมายต้องสนองจุดหมายของชีวิตคน”
และที่ผมเห็นว่าเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดคือ
“กฎหมายเป็นเครื่องจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผล มีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย”

ซึ่งในความหมายนี้อาจกล่าวได้อีกอย่างว่า การมีกฎหมายมีไว้เพื่อจัดการปกครอง เพื่อทำให้เกิดสังคมที่ดี ที่คนมีโอกาสพัฒนาชีวิตที่ดีงาม ซึ่งตามความหมายนี้เองที่ผมเห็นว่าเป็นความหมายของความยุติธรรมที่วิชากฎหมายจะต้องแสวงหา

P. Bunara
23 เมษายน 2548

[1] นักคณิตศาสตร์ชาวฮังการีที่มีความสามารถได้รับการยอมรับสูงสุด จนมีการจัดเลขลำดัลแอร์ดิช ซึ่งหมายถึง คนที่ได้เคยทำงานร่วมกับแอร์ดิช เลข 1 หมายถึง คนที่เคยทำงานร่วมกับเขาโดยตรง เลข 2 หมายถึง คนที่เคยทำงานร่วมกับคนที่เคยทำงานร่วมกับเขา เป็นต้น จากหนังสือเรื่อง คนที่รักเพียงตัวเลข (A man who love only numbers)
[2] อ้างอิงกับวิชานิติปรัชญาและหนังสือของ อ.สมยศ เชื้อไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[3] อ้างจากหนังสือนิติปรัชญาทางเลือกของ อ.สุปรีชา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[4] นิติปรัชญา พิจารณาเฉพาะในแง่นิติศาสตร์ได้แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ นิติศาสตร์ในแง่แบบแผน (Legal Science of Norms) นิติศาสตร์ในแง่ข้อเท็จจริง (Legal Science of Facts) และนิติศาสตร์ในแง่คุณค่า (Legal Science of Value)
[5] โดยท่านกล่าวไว้ว่าตามความหมาย นิติศาสตร์ หมายถึง ศาสตร์แห่งการนำ หรือจัดดำเนินการ ซึ่งอาจขยายความหมายว่าเป็นศาสตร์แห่งการนำคน หรือการนำกิจการของรัฐหรือการทำหน้าที่ของผู้นำ ความหมายไปในทำนองเดียวกันกับ รัฐศาสตร์ ซึ่งก็มีคำอีกคำหนึ่งที่ตรงกับเรื่องของกฎหมายมากกว่า คือ ธรรมศาสตร์ ซึ่งแปลว่า วิชาที่ว่าด้วยหลักการ เพราะ ธรรม แปลว่า หลักการ

No comments: