Thursday, November 09, 2006

รัฐประหารกับการยกเลิกกฎหมาย

1. ความสำคัญของ rule of law

เหตุผลรากฐานที่สำคัญของการมีกฎหมายก็คือ การให้อำนาจแก่หลักการของกฎหมายสูงสุดเหนือไปกว่าตัวผู้ปกครอง
เพื่อที่จะจำกัดขอบเขตการใช้อำนาจตามอำเภอใจและ
ประชาชนก็จะได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันภายใต้หลักกฎหมายเดียวกัน[1]

อันเป็นที่มาของหลักกฎหมายสูงสุด “rule of law”[2]
ประเด็นสำคัญที่ตามมาก็คือ กฎหมายที่เราจะใช้จำกัดอำนาจขอบเขตการใช้อำนาจของผู้ปกครองนั้น
ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ปกครองนั่นเองที่เป็นผู้ออกกฎหมาย
เช่นนี้แล้วหลักการของกฎหมายสูงสุดจะสามารถดำรงอยู่เหนือผู้ปกครองได้อย่างไร
เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงที่มีมานาน และมีแนวคิดเกิดขึ้นมากมาย โดยมุ่งตรงไปที่คำถามสำคัญที่ว่า “กฎหมายคืออะไร”

เรื่องนี้มีนักปรัชญาทางกฎหมายพยายามจะหาคำตอบให้ชัดเจนมาโดยตลอด
แต่คำตอบที่ได้ก็ไม่ง่ายเหมือนคำตอบในสาขาวิชาอื่นๆ ที่สามารถกำหนดนิยามที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น เคมีคืออะไร หรือ คณิตศาสตร์คืออะไร
ความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจเป็นของ H.L.A. Hart นักปรัชญากฎหมายชาวอังกฤษ ที่กล่าวโดยสรุปได้ว่า
ต่อคำถามที่ว่า กฎหมายคืออะไร นั้นเป็นเรื่องยากที่เราจะพยายามนิยามให้ชัดลงไป ซึ่งจะต้องใช้ความพยายามในการเทียบเคียงหรือยกตัวอย่างมากมาย และ
เมื่อเราพยายามกำหนดนิยามให้ชัดลงไปเลยแบบตายตัว เช่นว่า กฎหมายคือคำสั่ง ก็จะทำให้คำนิยามนั้นมีลักษณะที่แคบเกินไป
เพราะกฎหมายบางอย่างก็ไม่ได้เกิดมาจากคำสั่ง เป็นการปรับใช้โดยดุลยพินิจของศาลก็มาก
H.L.A. Hart จึงได้ตอบคำถามด้วยชุดคำถามที่เกี่ยวข้องไว้สามประการได้แก่
- กฎหมายมีความสัมพันธ์อย่างไรกับคำสั่งที่มีบทลงโทษ
- หน้าที่ตามกฎหมายมีความสัมพันธ์อย่างไรกับหน้าที่ตามศีลธรรม
- หลักกฎหมายคืออะไร และจะรู้ได้อย่างไรว่ามีหลักกฎหมายนั้นๆอยู่ในกฎหมาย
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามแกนหลักของปัญหาว่ากฎหมายคืออะไร
แม้ Hart จะได้พยายามอธิบายไว้ในงานของเขา แต่ในระดับที่สามารถสรุปเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปได้ก็คือ กฎหมายมีแง่มุมหนึ่งเป็นคำสั่งที่มีบทลงโทษ ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์อย่างแยกกันไม่ออกกับศีลธรรม และเราสามารถสกัดเอาหลักกฎหมายออกมาได้
แม้มันจะไม่ได้มีการบัญญัติเอาไว้ประหนึ่งว่ามีหลักกฎหมายอยู่แล้วดั้งเดิมในจักรวาล[3]
ในขั้นนี้กฎหมายจึงไม่ได้มีลักษณะของชุดคำสั่งแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นในที่นี้ก็คือเหตุผลสำคัญของการมีกฎหมาย หรือ rule of law

2. เมื่อเราคิดจะล้มเลิกหรือเว้นวรรคกฎหมาย

เบื้องต้นมีข้อคิดที่สำคัญว่า แม้กฎหมายมีจุดเริ่มต้นมาจากปรัชญาความคิดตะวันตก แต่ก็เป็นที่ยอมรับทั่วไปถึงความสำคัญของ rule of law เป็นอย่างดีและรับเอามาปรับใช้ทั่วโลก
จึงไม่มีปัญหาความแตกต่างทางแนวความคิดกฎหมายโดยพื้นฐาน
เมื่อเรารับว่าหลักกฎหมายสูงสุดดีกว่าหลักผู้ปกครองสูงสุด
เราจึงต้องพยายามที่จะดำรงรักษาหลักกฎหมายสูงสุดนี้เอาไว้ซึ่งย่อมจะเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

แต่เมื่อเราเผชิญปัญหาการใช้กฎหมาย เช่น
- การใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม
- การสร้างหลักกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ
- การขัดขืนต่อกฎหมาย หรือ
- แม้กระทั่งการล้มเลิกหรือเว้นวรรคกฎหมาย
ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจต่อหลักกฎหมายสูงสุด และ
แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะแยกเอากฎหมายออกจากหลักศีลธรรมและความยุติธรรม

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อมีความพยายามที่จะผละตัวเองออกจากกฎหมาย
ก็จะมีความพยายามนำตัวเองเข้าสู่หลักศีลธรรมและความยุติธรรม
ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก[4]

ในทางกลับกัน กฎหมายที่ไม่ให้ความเป็นธรรมหรือขัดต่อหลักศีลธรรมต่างหาก ที่จะถูกกำจัดออกไปในฐานะที่ไม่ใช่กฎหมาย

พูดแบบนี้ฟังดูง่าย แต่ที่จริงก็เป็นเรื่องยากมากที่จะให้เหตุผลในกรณีต่างๆว่าแบบใดมีความเป็นธรรมมากกว่าแบบอื่นๆ แต่ในขั้นที่สามารถยอมรับได้โดยทั่วไปก็คือ

กฎหมายเป็นเรื่องของความยุติธรรม[5]

ขณะที่เรากำลังจะยอมรับว่าสามารถทำรัฐประหารได้ กล่าวคือ
การล้มเลิกหรือเว้นวรรคกฎหมาย ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร

เมื่อต้องการเช่นนั้นเราจึงทำประหนึ่งว่ากฎหมายไม่มีความสำคัญ
แต่ขณะเดียวกันเราก็กำลังคิดแก้ปัญหาโดยการเขียน หรือแก้ไข เพิ่มเติม อะไรซักอย่างที่คล้ายๆกฎหมาย
แล้วคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาของเราที่เราเคยมองข้ามกฎหมายไปได้
มันคงไม่ง่ายเพียงนั้น
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่เราให้คุณค่าแก่กฎหมายตามหลักกฎหมายสูงสุดมากเพียงใด
ถ้าหากเราไม่ปฏิบัติต่อกฎหมายในแนวทางที่ยอมรับหลักกฎหมายสูงสุด
แม้เราจะเขียนกฎหมายออกมาอย่างไร
ย่อมไม่สามารถเป็นหลักประกันความเท่าเทียม ความเสมอภาค และการจำกัดขอบเขตอำนาจของผู้ปกครอง
ในทางตรงข้ามเมื่อมีการเขียนกฎเกณฑ์บางอย่างออกมาอ้างว่าเป็นกฎหมาย
ในฐานะประชาชนย่อมสามารถไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับความเป็นกฎหมาย (civil disobedience) เพราะเราสามารถบอกได้เองว่าอะไรคือกฎหมาย แม้ว่ามันจะไม่ง่ายเลยก็ตาม
[1] Albert Venn Dicey, Law of the Constitution (1895)
[2] ในบางที่อาจมีการใช้คำว่า “rule by law” แต่ก็มีความหมายไปในทางที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือการปกครองของผู้ปกครอง
[3] H.L.A. Hart, The Concept of Law (1961)
[4] ในเรื่องนี้มีสำนักความคิดทางกฎหมายหลายสำนักที่พยายามอธิบาย เช่น Natural Law School, Sociology Law School เป็นต้น แต่มีแนวความคิดแบบ Legal Positivism ที่แยกกฎหมายออกจากศีลธรรมอย่างเด็ดขาด แม้แนวความคิดนี้จะเคยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในอดีต แต่ก็เป็นที่เห็นได้จริงแล้วว่าเป็นความคิดที่คับแคบเกินไปและสร้างปัญหาต่อการใช้กฎหมายอย่างมาก ปัจจุบันจึงถือเป็นแนวความคิดที่ล้าสมัย
[5] corpus juris civilis
Technorati Profile