Friday, February 27, 2009

สุนทรพจน์ ณ เก๊ตตีสเบิร์ก โดย ลินคอล์น

Lincoln’s Gettysburg Address

19 พฤศจิกายน 1863

ณ สมรภูมิใกล้ เก๊ตตีสเบิร์ก, เพนซิลวาเนีย

เมื่อ 87 ปีก่อน บรรพบุรุษของเราได้ก่อตั้งประเทศนี้ขึ้นใหม่ ณ ดินแดนแห่งนี้ด้วยอิสรภาพและได้อุทิศชีวิตแก่ความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน

บัดนี้เราอยู่ท่ามกลางมหาสงครามกลางเมืองที่ทดสอบประเทศของเราว่าประเทศหนึ่งจะสามารถก่อตั้งขึ้นและอุทิศแก่ความเชื่อดังกล่าวไว้ได้นานเพียงใด

ที่ซึ่งตอนนี้ได้นำเราสู่สมรภูมิอันยิ่งใหญ่ของบททดสอบนั้น

เราได้อุทิศพื้นที่บางส่วนของสมรภูมินั้นเป็นเรือนตายแก่เพื่อนของเราที่ยอมสละชีพเพื่อให้ประเทศของเราได้ดำรงอยู่

ถึงเวลาแล้วที่เราจะทำอย่างเดียวกัน

แต่เราจะไม่อุทิศสมรภูมินี้ให้เป็นเหมือนดินแดนศักดิ์สิทธิจากวีรกรรมของเรา

ที่วีรชนรุ่นก่อนทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และตายไปแล้วได้อุทิศชีวิตเอาไว้สูงส่งเกินกว่ากำลังอันอ่อนด้อยของเราจะเพิ่มเติมหรือบั่นทอนไปได้

โลกจะจดจำเราไปแต่เพียงเล็กน้อยภายในชั่วเวลาสั้นๆว่าเราได้ทำอะไรที่นี่

แต่จะไม่ลืมวีรกรรมของวีรชนผู้กล้าที่ได้เสียสละ ณ ที่แห่งนี้

เป็นหน้าที่ของเราแล้วที่ยังมีชีวิตอยู่ที่จะสานต่องานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ของวีรชนของเราที่ได้ต่อสู้และได้สร้างผลงานไว้อย่างสง่างาม

เป็นหน้าที่ของเราแล้วที่จะทำต่อในส่วนที่เหลือของงานอันยิ่งใหญ่นี้

ที่การสละชีพอย่างมีเกียรติของพวกเขาทำให้เราได้รับแรงใจที่ดียิ่งขึ้น

ที่วีรกรรมอย่างเต็มความสามารถของพวกเขาทำให้เราจะไม่ยอมให้การตายของพวกเขาสูญเปล่า

ที่ประเทศนี้ภายใต้ความคุ้มครองของพระเจ้าจะต้องถือกำเนิดใหม่อีกครั้งจากอิสรภาพ และ

ที่รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะยังคงอยู่บนโลกต่อไป

Wednesday, January 21, 2009

คำประกาศอิสรภาพ
Declaration of Independence

ณ สภาคองเกรส, 4 กรกฏาคม 1776
คำประกาศโดยฉันทามติแห่งสหรัฐอันประกอบด้วย 13 มลรัฐแห่งอเมริกา

ท่ามกลางสายธารประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ ในยามจำเป็นที่ประชาชนจำต้องละทิ้งความเป็นกลุ่มการเมืองที่หลากหลายของตัวเองเพื่อแสวงหาอิสรภาพและความเสมอภาคที่พวกเขาพึงมีตามหลักกฎหมายธรรมชาติเฉกเช่นอำนาจทั้งหลายที่พระเจ้าได้มอบให้แก่โลก และด้วยตระหนักรู้ถึงความคิดเห็นที่หลากหลายที่มีต่อมนุษยชาติทำให้พวกเขาเหล่านั้นจำต้องประกาศว่าเหตุร้ายแรงอันใดที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องลุกขึ้นปลดแอกของตัวเอง

พวกเราจึงรับรองว่าสิ่งต่อไปนี้เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ในตัว

ว่าคนทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน

ว่าคนทุกคนได้รับสิทธิทั้งหลายจากพระเจ้าที่ไม่อาจพรากไปได้ซึ่งรวมถึง สิทธิในชีวิต สิทธิในอิสรภาพ และสิทธิในการแสวงหาความสุข

และเพื่อธำรงรักษาสิทธิเหล่านั้นจึงจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยประชาชนเพื่อใช้อำนาจปกครองอย่างเป็นธรรมโดยความยินยอมของผู้ใต้ปกครอง และเมื่อใดที่รัฐบาลไม่ว่าในรูปแบบใดกลายเป็นอุปสรรคทำลายเป้าประสงค์ดังกล่าว นั่นย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างรัฐบาลนั้น เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และวางรากฐานหลักการดังกล่าวขึ้นใหม่และจัดระเบียบอำนาจในรูปแบบตามที่จะเห็นสมควรว่าจะเป็นประโยชน์ได้มากที่สุดต่อความปลอดภัยและความสุขของประชาชน โดยมีหลักความสง่างามเป็นเงื่อนไขกำหนดว่ารัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างยาวนานไม่ควรจะต้องถูกเปลี่ยนแปลงเพราะสาเหตุเพียงเล็กน้อยชั่วครั้งชั่วคราว เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาได้สอนเราแล้วว่ามนุษยชาติจะต้องทนทุกข์ทรมานเพียงใดเพื่อแก้ไขสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น หากว่าความเลวร้ายที่มียังพอทำเนาก็ย่อมดีกว่าการล้มล้างรูปแบบการปกครองที่ถือปฏิบัติกันมายาวนาน แต่เมื่อใดที่มีการประพฤติมิชอบและการล่วงละเมิดสิทธิติดต่อกันยาวนานอันแสดงให้เห็นได้ว่ามีเป้าประสงค์ที่จะบั่นทอนการปกครองอันจะนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการอย่างสมบูรณ์ นั่นย่อมเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชนที่จะกำจัดรัฐบาลเช่นนั้นและจัดให้มีผู้ปกครองใหม่เพื่อความมั่นคงของประชาชนในวันข้างหน้า

และที่ดินแดนแห่งนี้ได้อดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ทรมานดังกล่าวแล้ว

และบัดนี้เป็นความจำเป็นคับขันแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเดิม

ที่ตลอดประวัติศาสต์ของกษัตริย์องค์ปัจจุบันแห่งบริเตนใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ของความเจ็บปวดและการล่วงละเมิดครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งหมดมีเป้าประสงค์เพื่อจัดตั้งระบอบเผด็จการอย่างสมบูรณ์เหนือดินแดนนี้ และเพื่อพิสูจน์ความจริงข้อนี้จึงได้เปิดเผยข้อเท็จจริงต่อไปนี้ให้โลกได้รับรู้


พระองค์ได้ปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบเพื่อออกกฎหมาย ทั้งที่เป็นประโยชน์และความจำเป็นของส่วนรวม

พระองค์ได้ห้ามไม่ให้ผู้ว่าการรัฐของพระองค์ผ่านกฎหมายที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน แต่ให้ระงับเอาไว้จนกว่าพระองค์จะให้ความเห็นชอบ และไม่เคยสนใจจะพิจารณากฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด

พระองค์ได้ปฎิเสธไม่ให้ความเห็นชอบกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่อาศัยในเขตเมืองใหญ่ เว้นแต่ประชาชนเหล่านั้นจะสละสิทธิการมีตัวแทนในสภา อันเป็นสิทธิที่ประเมินค่ามิได้ของประชาชนแต่เป็นสิทธิที่น่าหวั่นกลัวของพวกทรราชย์เท่านั้น

พระองค์ได้เรียกประชุมสภา ณ สถานที่อันไม่ปกติ ไม่สะดวกสบาย และห่างไกลจากที่เก็บบันทึกของรัฐการ เพื่อเป้าประสงค์ที่จะบั่นทอนประชาชนให้ยอมตามความต้องการของพระองค์

พระองค์ได้ยุบสภาครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อยืนยันเป้าประสงค์อย่างแข็งขันที่จะล่วงละเมิดสิทธิของประชาชน

พระองค์ได้ปฏิเสธมาตลอดที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายหลังจากการยุบสภา ทั้งที่อำนาจนิติบัญญัติที่ยังคงอยู่ได้กลับมาสู่มือของประชาชนและพร้อมให้ใช้สิทธินั้นได้ ทำให้มลรัฐทั้งหลายต้องตกอยู่ในภยันตรายจากการรุกรานภายนอกและความวุ่นวายภายใน

พระองค์ได้จงใจขัดขวางไม่ให้มีการเพิ่มประชากรในมลรัฐต่างๆ ด้วยการขัดขวางการออกกฎหมายให้สัญชาติแก่คนต่างด้าว ปฏิเสธไม่ผ่านกฎหมายอื่นๆที่ส่งเสริมการอพยพเข้าเมือง และเพิ่มข้อกำหนดเงื่อนไขการจัดสรรที่ดินใหม่

พระองค์ได้ขัดขวางระบบการบริหารงานยุติธรรมด้วยการปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายจัดตั้งอำนาจตุลาการ

พระองค์ได้ทำให้ผู้พิพากษาต้องขึ้นตรงต่อพระองค์แต่เพียงผู้เดียวเพียงเพื่อที่จะรักษา ตำแหน่ง และเงินเดือนของเขาเอาไว้

พระองค์ได้จัดตั้งสำนักงานใหม่ต่างๆหลายแห่งและส่งเจ้าหน้าที่จำนวนมากมาที่นี่เพื่อบ่อนทำลายประชาชนของเราและหากินตามความต้องการของเขา

พระองค์ได้คงกองทัพทั้งหลายเอาไว้กับเราแม้ในยามสงบโดยปราศจากความยินยอมจากสภาของเรา

พระองค์ได้กำหนดให้กองทัพเป็นอิสระและอยู่เหนืออำนาจของประชาชน

พระองค์ได้ร่วมมือกับคนอื่นๆเพื่อกำหนดให้เราอยู่ใต้เขตอำนาจที่แปลกแยกไปจากธรรมนูญของเรา และไม่รับรองกฎหมายของเรา แต่ให้ความเห็นชอบแก่กฎหมายของพวกพระองค์ที่แสร้งว่ามาจากการนิติบัญญัติ ทั้งนี้:

เพื่อวางกำลังกองทัพขนาดใหญ่ไว้อยู่กับเรา
เพื่อปกป้องพวกของพระองค์จากการพิจารณาคดีและการลงโทษฐานฆาตกรที่พวกของพระองค์อาจกระทำต่อประชาชนของมลรัฐ
เพื่อตัดขาดการค้าของเรากับโลกภายนอกส่วนอื่นๆ
เพื่อบังคับเก็บภาษีโดยปราศจากความยินยอม
เพื่อตัดโอกาสเราในหลายกรณีจากการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน
เพื่อนำส่งเราข้ามทะเลไปอังกฤษเพื่อไต่สวนหาความผิดที่ไม่เป็นความจริง
เพื่อล้มล้างระบบเสรีของกฎหมายอังกฤษในดินแดนข้างเคียง และจัดตั้งรัฐบาลของตนเพื่อขยายอาณาเขตเพื่อแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างและแนวทางที่เหมาะสมที่จะใช้กฎเบ็ดเสร็จอย่างเดียวกันกับอาณานิคมที่นี้
เพื่อขจัดกฎบัตรของเรา ล้มล้างกฎหมายอันทรงคุณค่าของเรา และเปลี่ยนแปลงรากฐานรูปแบบการปกครองของเรา
เพื่อยังยั้งระบบนิติบัญญัติของเราเอง และประกาศอำนาจนิติบัญญัติของเขาที่จะออกกฎหมายให้เราในทุกกรณี

พระองค์ได้สละอำนาจปกครอง ณ ดินแดนแห่งนี้ด้วยการประกาศให้พวกเราอยู่นอกอารักขาและประกาศสงครามต่อพวกเรา

พระองค์ได้แย่งชิงทะเลของเรา ถล่มชายฝั่งของเรา เผาบ้านเมืองของเรา และทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของเรา

พระองค์กำลังส่งกองทัพทหารรับจ้างต่างชาติขนาดใหญ่เพื่อนำมาซึ่งความตาย ความสูญเสีย และระบอบเผด็จการ ซึ่งได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วจากสถานการณ์ที่โหดร้ายและการทรยศที่ไม่มีเสมอเหมือนแม้ในยามป่าเถื่อนที่สุด โดยไม่มีความน่าเลื่อมใสใดๆของประมุขแห่งประเทศอารยะหลงเหลืออยู่

พระองค์ได้บังคับให้เพื่อนประชาชนของเราต้องเป็นแรงงานบนเรือในทะเลหลวงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกองกำลังที่ต่อต้านประเทศของตัวเอง ต้องกลายเป็นผู้สำเร็จโทษเพื่อนของตัวเองและเพื่อนร่วมศาสนาเดียวกัน และต้องยอมจำนนต่อพระองค์ด้วยมือของตัวเอง

พระองค์ได้ยุยงให้เกิดการต่อต้านระหว่างพวกเรากันเอง และจงใจให้มีผู้อยู่อาศัยที่ชายแดนของเรา ซึ่งก็คือพวกอินเดียนที่เป็นอนารยชนและไร้ความปรานี อันเป็นการบ่อนทำลายที่ไม่อาจสังเกตเห็นได้แก่ ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพ

ในทุกๆขั้นตอนของการกดขี่เหล่านี้ เราได้ร้องขอให้มีการแก้ไขเยียวยาที่เป็นไปได้อย่างต่ำที่สุดตลอดมา ข้อร้องขอของเราครั้งแล้วครั้งเล่าได้รับเพียงการตอบกลับด้วยความเสียหายซ้ำแล้วซ้ำอีก กษัตริย์ที่มีพฤติกรรมเฉกทรราชย์เช่นนี้ไม่สมควรจะปกครองเสรีชน

ทั้งเราก็ไม่รอคอยความใยดีจากเพื่อนชาวบริติชอีกต่อไป เพราะพวกเราได้เตือนพวกเขามาตลอดแล้วเกี่ยวกับความพยายามของสภาของเขาที่จะขยายเขตอำนาจที่มิชอบเหนือพวกเรา พวกเราได้ย้ำเตือนพวกเขาแล้วเกี่ยวกับสถานการณ์ของการย้ายถิ่นและตั้งรกราก ณ ที่ดินแดนนี้ พวกเราได้อุทธรณ์ต่อความยุติธรรมและเมตตาธรรมของพวกเขาแล้วและได้วิงวอนให้เห็นแก่ความสัมพันธ์ของสายเลือดเดียวกันเพื่อให้ยุติการกดขี่เหล่านี้ซึ่งจะขัดขวางความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่พวกเขาก็ได้เพิกเฉยต่อเสียงของความยุติธรรมและเสียงจากสายเลือดเดียวกัน พวกเราจึงจำต้องยอมรับต่อความจำเป็นคับขันและประกาศอิสรภาพและถือว่าพวกเขาเป็นเสมือนเพื่อนร่วมมนุษยชาติ เสมือนศัตรูยามสงคราม และเสมือนมิตรยามสงบ

ดังนี้แล้วพวกเราเหล่าตัวแทนของสหรัฐอเมริกาได้มารวมตัวกัน ณ สภาคองเกรส เพื่ออุทธรณ์ต่อศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งโลกเพื่อแสดงความถูกต้องแห่งเจตนารมณ์ของเราในนามและโดยอำนาจของประชาชนที่ดีแห่งอาณานิคมนี้ จึงเผยแพร่และประกาศอย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคงว่า อาณานิคมสหรัฐแห่งนี้เป็นและโดยสิทธิที่ควรจะเป็นอิสระและเสรีจากความจงรักภักดีทั้งปวงที่เคยมีต่อราชบัลลังก์บริติช ความสัมพันธ์ทางการเมืองทั้งปวงระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัฐแห่งบริเตนใหญ่เป็นและควรจะเป็นสิ่งที่สิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิง และในฐานะที่เป็นสหรัฐที่อิสระและเสรีจึงมีอำนาจเต็มที่จะ เข้าสู่สงคราม ทำความตกลงสันติภาพ เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตร เจรจาการค้า และดำเนินการอื่นใดเฉกเช่นรัฐอิสระพึงมีสิทธิทำได้ และเพื่อสนับสนุนคำประกาศนี้ด้วยความหนักแน่นมั่นคงสูงสุดภายใต้ความคุ้มครองของพระเจ้า พวกเราจึงให้คำปฏิญญาณร่วมกันด้วย ชีวิตของเรา อนาคตของเรา และเกียรติอันสูงสุดของเรา

Sunday, December 03, 2006

Thursday, November 09, 2006

รัฐประหารกับการยกเลิกกฎหมาย

1. ความสำคัญของ rule of law

เหตุผลรากฐานที่สำคัญของการมีกฎหมายก็คือ การให้อำนาจแก่หลักการของกฎหมายสูงสุดเหนือไปกว่าตัวผู้ปกครอง
เพื่อที่จะจำกัดขอบเขตการใช้อำนาจตามอำเภอใจและ
ประชาชนก็จะได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันภายใต้หลักกฎหมายเดียวกัน[1]

อันเป็นที่มาของหลักกฎหมายสูงสุด “rule of law”[2]
ประเด็นสำคัญที่ตามมาก็คือ กฎหมายที่เราจะใช้จำกัดอำนาจขอบเขตการใช้อำนาจของผู้ปกครองนั้น
ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ปกครองนั่นเองที่เป็นผู้ออกกฎหมาย
เช่นนี้แล้วหลักการของกฎหมายสูงสุดจะสามารถดำรงอยู่เหนือผู้ปกครองได้อย่างไร
เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงที่มีมานาน และมีแนวคิดเกิดขึ้นมากมาย โดยมุ่งตรงไปที่คำถามสำคัญที่ว่า “กฎหมายคืออะไร”

เรื่องนี้มีนักปรัชญาทางกฎหมายพยายามจะหาคำตอบให้ชัดเจนมาโดยตลอด
แต่คำตอบที่ได้ก็ไม่ง่ายเหมือนคำตอบในสาขาวิชาอื่นๆ ที่สามารถกำหนดนิยามที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น เคมีคืออะไร หรือ คณิตศาสตร์คืออะไร
ความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจเป็นของ H.L.A. Hart นักปรัชญากฎหมายชาวอังกฤษ ที่กล่าวโดยสรุปได้ว่า
ต่อคำถามที่ว่า กฎหมายคืออะไร นั้นเป็นเรื่องยากที่เราจะพยายามนิยามให้ชัดลงไป ซึ่งจะต้องใช้ความพยายามในการเทียบเคียงหรือยกตัวอย่างมากมาย และ
เมื่อเราพยายามกำหนดนิยามให้ชัดลงไปเลยแบบตายตัว เช่นว่า กฎหมายคือคำสั่ง ก็จะทำให้คำนิยามนั้นมีลักษณะที่แคบเกินไป
เพราะกฎหมายบางอย่างก็ไม่ได้เกิดมาจากคำสั่ง เป็นการปรับใช้โดยดุลยพินิจของศาลก็มาก
H.L.A. Hart จึงได้ตอบคำถามด้วยชุดคำถามที่เกี่ยวข้องไว้สามประการได้แก่
- กฎหมายมีความสัมพันธ์อย่างไรกับคำสั่งที่มีบทลงโทษ
- หน้าที่ตามกฎหมายมีความสัมพันธ์อย่างไรกับหน้าที่ตามศีลธรรม
- หลักกฎหมายคืออะไร และจะรู้ได้อย่างไรว่ามีหลักกฎหมายนั้นๆอยู่ในกฎหมาย
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามแกนหลักของปัญหาว่ากฎหมายคืออะไร
แม้ Hart จะได้พยายามอธิบายไว้ในงานของเขา แต่ในระดับที่สามารถสรุปเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปได้ก็คือ กฎหมายมีแง่มุมหนึ่งเป็นคำสั่งที่มีบทลงโทษ ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์อย่างแยกกันไม่ออกกับศีลธรรม และเราสามารถสกัดเอาหลักกฎหมายออกมาได้
แม้มันจะไม่ได้มีการบัญญัติเอาไว้ประหนึ่งว่ามีหลักกฎหมายอยู่แล้วดั้งเดิมในจักรวาล[3]
ในขั้นนี้กฎหมายจึงไม่ได้มีลักษณะของชุดคำสั่งแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นในที่นี้ก็คือเหตุผลสำคัญของการมีกฎหมาย หรือ rule of law

2. เมื่อเราคิดจะล้มเลิกหรือเว้นวรรคกฎหมาย

เบื้องต้นมีข้อคิดที่สำคัญว่า แม้กฎหมายมีจุดเริ่มต้นมาจากปรัชญาความคิดตะวันตก แต่ก็เป็นที่ยอมรับทั่วไปถึงความสำคัญของ rule of law เป็นอย่างดีและรับเอามาปรับใช้ทั่วโลก
จึงไม่มีปัญหาความแตกต่างทางแนวความคิดกฎหมายโดยพื้นฐาน
เมื่อเรารับว่าหลักกฎหมายสูงสุดดีกว่าหลักผู้ปกครองสูงสุด
เราจึงต้องพยายามที่จะดำรงรักษาหลักกฎหมายสูงสุดนี้เอาไว้ซึ่งย่อมจะเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

แต่เมื่อเราเผชิญปัญหาการใช้กฎหมาย เช่น
- การใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม
- การสร้างหลักกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ
- การขัดขืนต่อกฎหมาย หรือ
- แม้กระทั่งการล้มเลิกหรือเว้นวรรคกฎหมาย
ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจต่อหลักกฎหมายสูงสุด และ
แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะแยกเอากฎหมายออกจากหลักศีลธรรมและความยุติธรรม

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อมีความพยายามที่จะผละตัวเองออกจากกฎหมาย
ก็จะมีความพยายามนำตัวเองเข้าสู่หลักศีลธรรมและความยุติธรรม
ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก[4]

ในทางกลับกัน กฎหมายที่ไม่ให้ความเป็นธรรมหรือขัดต่อหลักศีลธรรมต่างหาก ที่จะถูกกำจัดออกไปในฐานะที่ไม่ใช่กฎหมาย

พูดแบบนี้ฟังดูง่าย แต่ที่จริงก็เป็นเรื่องยากมากที่จะให้เหตุผลในกรณีต่างๆว่าแบบใดมีความเป็นธรรมมากกว่าแบบอื่นๆ แต่ในขั้นที่สามารถยอมรับได้โดยทั่วไปก็คือ

กฎหมายเป็นเรื่องของความยุติธรรม[5]

ขณะที่เรากำลังจะยอมรับว่าสามารถทำรัฐประหารได้ กล่าวคือ
การล้มเลิกหรือเว้นวรรคกฎหมาย ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร

เมื่อต้องการเช่นนั้นเราจึงทำประหนึ่งว่ากฎหมายไม่มีความสำคัญ
แต่ขณะเดียวกันเราก็กำลังคิดแก้ปัญหาโดยการเขียน หรือแก้ไข เพิ่มเติม อะไรซักอย่างที่คล้ายๆกฎหมาย
แล้วคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาของเราที่เราเคยมองข้ามกฎหมายไปได้
มันคงไม่ง่ายเพียงนั้น
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่เราให้คุณค่าแก่กฎหมายตามหลักกฎหมายสูงสุดมากเพียงใด
ถ้าหากเราไม่ปฏิบัติต่อกฎหมายในแนวทางที่ยอมรับหลักกฎหมายสูงสุด
แม้เราจะเขียนกฎหมายออกมาอย่างไร
ย่อมไม่สามารถเป็นหลักประกันความเท่าเทียม ความเสมอภาค และการจำกัดขอบเขตอำนาจของผู้ปกครอง
ในทางตรงข้ามเมื่อมีการเขียนกฎเกณฑ์บางอย่างออกมาอ้างว่าเป็นกฎหมาย
ในฐานะประชาชนย่อมสามารถไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับความเป็นกฎหมาย (civil disobedience) เพราะเราสามารถบอกได้เองว่าอะไรคือกฎหมาย แม้ว่ามันจะไม่ง่ายเลยก็ตาม
[1] Albert Venn Dicey, Law of the Constitution (1895)
[2] ในบางที่อาจมีการใช้คำว่า “rule by law” แต่ก็มีความหมายไปในทางที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือการปกครองของผู้ปกครอง
[3] H.L.A. Hart, The Concept of Law (1961)
[4] ในเรื่องนี้มีสำนักความคิดทางกฎหมายหลายสำนักที่พยายามอธิบาย เช่น Natural Law School, Sociology Law School เป็นต้น แต่มีแนวความคิดแบบ Legal Positivism ที่แยกกฎหมายออกจากศีลธรรมอย่างเด็ดขาด แม้แนวความคิดนี้จะเคยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในอดีต แต่ก็เป็นที่เห็นได้จริงแล้วว่าเป็นความคิดที่คับแคบเกินไปและสร้างปัญหาต่อการใช้กฎหมายอย่างมาก ปัจจุบันจึงถือเป็นแนวความคิดที่ล้าสมัย
[5] corpus juris civilis
Technorati Profile

Thursday, February 02, 2006

“Mae Hong Son Loop”

เมื่อวันที่ 11-15 เมษายน 2548 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวกับเพื่อนรวม 4 คนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยตั้งใจว่าจะเที่ยวตาม hi-light การท่องเที่ยวบนเส้นทางถนนหลักของจังหวัดที่เป็นถนนเส้น 1095 และ 108 ที่เชื่อมต่อกันเป็นเส้นเดียวและวนกลับมายังจุดเริ่มต้นเดิมคือ จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นที่มาของคำว่า Mae Hong Son Loop ข้างต้น ที่กล่าวมานี้ไม่เป็นที่แนะนำเลยครับสำหรับการเดินทางลักษณะนี้ โดยส่วนตัวผมคิดว่าทำให้ไม่สนุกเท่าที่ควร ทั้งที่ตัวเองก็รู้สึกอยู่มากทีเดียว แต่คิดว่าน่าจะดีกว่านี้หากไม่เน้นการทำ loop ที่ว่ามากเกินไป

จุด hi-light หลักของ trip นี้ก็คือ เมืองปาย และเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งก็อีกนั่นแหละคงจะดีกว่านี้แน่หากไปเยี่ยมเยียนในช่วงฤดูหนาว แต่เอาเหอะไปครั้งนี้ผมได้ข้อคิดที่จะขอบันทึกไว้สองสามข้อดังนี้ครับ (ซึ่งไม่เกี่ยวกับการไปเที่ยวครั้งนี้นัก)

1. ผมพบว่าผมเกลียดอาชีพพ่อค้าหรือนักธุรกิจที่หากำไรมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า
ผมเกิดอยู่ดีๆ ช่วงนี้ไม่ชอบอาชีพพ่อค้านักธุรกิจเข้าไส้เหลือกำลัง เหตุผลก็เพราะสาเหตุส่วนตัวที่ผมต้องเลิกกับแฟนเพราะผมไม่สามารถช่วยส่งเสริมแผนการธุรกิจของเขาได้ดีนักเมื่อเทียบกะอีกคนหนึ่ง โดยเฉพาะผมมีความตั้งใจจะเป็นอาจารย์ด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ ทำให้เราเข้ากันไม่ได้ นี่ยังไม่รวมถึงดวงที่ไม่สมพงศ์กันอีกนะครับ
“ของซื้อของขายจะมายกกันให้ง่ายๆ ได้ที่ไหน”
คำพูดนี้จึงแวะเวียนเข้ามาในความคิด ซึ่งครั้งนึงก็ได้เคยทบทวนและคิดว่ามันเริ่มจะไม่สมเหตุสมผลซักเท่าใดนัก ทั้งที่แต่ก่อนตอนเด็กๆ นั้นออกจะเห็นดีเห็นงามกับคำๆ นี้และเห็นว่าเป็นความจริงอย่างที่สุด แต่วันนี้ผมเห็นว่ามันเหลวไหล จอมปลอม และเป็นคำอ้าง สักแต่อ้างไปก็เท่านั้น ตามความคิดแล้วคำนี้เป็นคำอ้างจากพวกพ่อค้าคนจีนที่ก็อ้างเพื่อจะเอาของค้าขายทำกำไร ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไร
พาลทำให้ผมคิดต่อไปว่านี่เอง ความที่พวกพ่อค้าหากำไรเป็นนิจ ไม่มีคุณค่าอะไรทางสังคม ในที่นี้หมายถึงคุณค่าที่เปรียบเทียบได้กับ ความเสียสละ ความดี ความอดทน หรือคุณธรรมอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน พ่อค้าจึงเป็นชนชั้นที่ไม่มีเกียรติ เมื่อเทียบกับ กษัตริย์ นักรบ พระ นักบวช หรือพราหมณ์ ในวรรณะของอินเดีย พาลนึกต่อไปถึงศาสนาอิสลามที่กำหนดให้การคิดดอกเบี้ยเป็นบาป (อันนี้ฟังมาไม่รู้จริงหรือป่าว) ทำให้นึกทึ่งในความรอบรู้ และกุศโลบายอันแยบยล
โดยสรุปก็คือ ผมจึงเกิดรังเกียจอาชีพพ่อค้าและคล้อยตามกับความเห็นของคนสมัยก่อนที่เคยได้ฟังมาว่ารังเกียจอาชีพพ่อค้าว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติเป็นอย่างมาก

2. ผมพบว่าควรจะได้มีการส่งเสริมองค์กรหรือนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรให้สามารถเติบโตและมีศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมของตนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ จนอาจจะถือให้เป็นยุทธศาสตร์หลักของชาติเลยก็ว่าได้ เพ้อเข้าไปนั่น แต่ผมก็คิดอย่างนั้นจริงๆ
ข้อนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากผมได้ไปสะกิดใจกับคำพูดของเพื่อนคนหนึ่งในทริปนี้ที่พูดว่า
“คนบ้านนอกนั้นหากไม่เข้ามาในเมืองหางานทำแล้ว การอยู่ที่บ้านของพวกเขานั้นเป็นเพียงการตื่นขึ้นมาหายใจเท่านั้น อย่างมากก็ไปตกปลามาตัวหนึ่งทำกับข้าว หรือปลูกต้นไม้ ทำไร่ นิดหน่อย”
ผมจึงสำรวจความคิดตัวเองแล้วพบว่า หากเป็นเมื่อก่อนผมก็จะเห็นด้วยกับความเห็นนี้ แต่ตอนนี้ผมเกิดสงสัยว่าการตื่นขึ้นมาหายใจมันไม่ดีตรงไหน การทำอะไรที่คนบางคนเห็นว่าเล็กน้อยด้อยค่า เช่นตกปลาตัวเดียว หรือทำไร่นิดหน่อย ที่ว่ามันไม่ดีจริงๆ หรือป่าว ซึ่งผมก็พาลเข้าใจไปเองว่าคนพูดที่เป็นคนอาชีพพ่อค้าสืบเนื่องมาจากข้อแรกคงเห็นดีกับการทำงานในเมือง หรือตกปลาก็ควรจะตกให้ได้คราวละมากๆ ทำไร่ก็ทำให้ได้ผลผลิตที่มากทำกำไรอะไรทำนองนี้
ตอนนั้นผมไม่ได้แย้งอะไรเพื่อนผมคนนั้นเลย และคิดว่าคงไม่มีประโยชน์อะไรเพราะความเห็นที่แตกต่างอย่างนี้หาจุดสรุปได้ก็เพียงความแตกต่างเหมือนเดิม ผมจึงมานั่งคิดเองคนเดียวว่าไม่เห็นด้วย และคิดว่าไม่ถูกต้องที่ไปตีค่าให้ราคาการกระทำที่ว่าให้ด้อยค่าเช่นนั้น แต่กลับเห็นว่าการกระทำที่ด้อยค่าเช่นนั้นกับสอดคล้องกับอารยธรรมแบบยูโทเปีย (มีเกร็ดเล็กๆ ว่ามีการเรียกเมืองปายว่า “ยูโทปาย” ครับ) ที่บ้านเมืองมีความสงบสุข ไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขันทรัพยากรมีให้ใช้เหลือเฟือ
ข้อนี้เข้าใจว่ามีหลายคนต้องแย้งว่ายูโทเปียอีกแล้ว มันทำได้เพราะคนมันน้อยหรอก ถ้าคนเยอะต้องแก่งแย่งแข่งขันการใช้ทรัพยากร การทำอย่างนั้นไม่ทันคนอื่นๆ เขาหรอก แต่ผมในตอนนี้กลับมองว่ายูโทเปียไม่ใช่เรื่องเกินจริงนะครับ มันออกจะสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงซะด้วย เราไม่มีความจำเป็นต้องโหมสูบทรัพยากรมาใช้
ในขณะที่คนเมืองสูบเอาทรัพยากรส่วนใหญ่ไปใช้ จะอธิบายอย่างไรว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ หรือว่ามีประสิทธิภาพสำหรับคนไม่กี่คน ข้อนี้คงเถียงกันได้ไม่จบ จึงขอสรุปตรงที่เห็นว่า
“เพียงการตื่นหายใจก็มีคุณค่ามากกว่าพวกกอบโกยอย่างพ่อค้าเป็นต้นครับ”

3. ผมพบว่าการส่งเสริมการค้า การค้าเสรี การกระจายรายได้ และ GDP ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยส่วนรวมทั้งหมดอย่างที่สุด และไม่เกี่ยวข้องกับความสงบสุขของประชาชนทั้งหลายอีกด้วย
ข้อนี้ขอพูดสั้นๆ ก็เพราะสาเหตุที่คนทุกคนนั้นไม่สามารถพิจารณาได้ว่ามีความสามารถในการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรและผลิตได้เท่ากันจริง fair trade ไม่อาจเกิดขึ้นจาก free trade ได้เลย เพราะฉะนั้นประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถพิจารณาได้ว่ามีคุณมีโทษตามดัชนีค่าวัดหยาบกระด้างเช่นนั้น

นอกจากนี้ยังพาลนึกไปถึงเรื่อง market ที่พวกพ่อค้าต้องใช้ เกิดให้สงสัยว่าจะดีมั้ยน้อ หากนักวิชาการทาง market หรือคนที่เก่งๆ ด้านนี้จะมารวมตัวกันทำงานสร้าง market ที่เป็นประโยชน์มากกว่าการขายของ กล่าวคือ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้าง brand ทำ market ที่จะทำให้ประชาชนทุกคนเห็นดีเห็นงามในการทำความดี ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จะสามารถส่งผลลดอาชญากรรม ยาเสพติด และอุบัติเหตุได้หรือไม่

P. Bunara
18 เมษายน 2548
“วิชากฎหมาย”

ประเด็นสำคัญที่สุดในการศึกษาวิชาความรู้ไม่ว่าจะสาขาใดก็ตาม สำหรับผมแล้ว คือ การเข้าใจความคิดรวบยอดหรือหัวใจของการศึกษานั้นๆ เป็นอันดับแรก เช่น เมื่อมีคนถามว่าคุณเรียนวิชานั้นวิชานี้เขาสอนอะไร? เรียนแล้วได้อะไร? หรือคำถามพื้นฐานเช่น ที่คุณเรียนมันคืออะไร? เริ่มต้นแล้วมันควรจะได้มีคำอธิบายที่สั้น กระชับ ได้ใจความ และพุ่งตรงเข้าสู่ประเด็นของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องฟังแล้วพยักหน้ารับว่า “ใช่แล้ว ! สิ่งนี้คือหัวใจของวิชา” เหมือนกับที่แอร์ดิช[1] พูดในทำนองเดียวกันว่า “มันถูกต้องเป็นจริงเหมือนตรงออกมาจากพระคัมภีร์”

ส่วนตัวแล้วผมเคยอยากเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์และเคยได้รู้ว่าวิชานี้ คือ “การศึกษาเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแก่ความต้องการที่มีอย่างไร้ขีดจำกัด” อันนี้ผมเขียนมาจากความทรงจำซึ่งอันคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็บอกได้ว่านี่แหละคือหัวใจของวิชา ตรงออกมาจากพระคัมภีร์ แต่ก็ยังไม่เคยมีโอกาสได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างจริงจังเลย ได้แต่ศึกษาด้วยตัวเองมากกว่าเป็นครั้งคราว ทำนองเดียวกันวิชาทางวิศวกรรม ก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อมนุษย์ เป็น application ของ pure science อีกทีหนึ่ง (อันนี้ผมพูดเองอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด)

อย่างไรก็ตาม ผมมีโอกาสได้เรียนวิชานิติศาสตร์ ซึ่งก็เป็นวิชาที่ผมรักและให้ความตั้งใจศึกษาอย่างมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองมาก่อน แต่มีอยู่วันนี้เองที่ได้มีโอกาสคุยถึงเรื่องการศึกษาวิชานิติศาสตร์นี้แล้วถามว่ามันคืออะไร ผมกลับตอบไม่ได้ คิดอยู่นาน รู้สึกเป็นความบกพร่อง และทนได้ยาก (เป็นทุกข์) แต่จู่ๆ ผมกลับได้คำตอบที่คิดว่ากระชับ ได้ใจความ เหมือนตรงออกมาจากพระคัมภีร์ ซึ่งพี่ที่คุยด้วยเขาได้พูดขึ้นมาเป็นการช่วยทะลวงความเขลา และเปิดสมองอย่างประหลาด เขาพูดอย่างไม่ต้องคิดหนักว่า

“วิชานิติศาสตร์ เป็น การศึกษาแนวทางและกระบวนการเพื่ออำนวยความยุติธรรม”

สำหรับผมแล้วมันตรงออกมาจากพระคัมภีร์จริงๆ (ผมใช้คำนี้ที่ยืมมาจากแอร์ดิชมากหน่อยเพราะคิดว่าฟังแล้วมันให้ความหมายได้ตรงดี แต่ผมยังคงเป็นพุทธนะครับ) และคิดว่านี่แหละใช่เลยผมจะยึด concept นี้ใช้ในการศึกษาและทำงานต่างๆ ต่อไปในอนาคต (หากไม่มีแนวทางไหน หรือความคิดมาเปลี่ยนใจนะครับ ซึ่งคิดว่าไม่มีแล้วล่ะ มันออกจะตรงออกมาจากพระคัมภีร์ขนาดนั้น)

ยังมีประเด็นอีกนิดหน่อยที่อยากบันทึกไว้คือ ถ้าหากความหมายเป็นอย่างที่ว่าแล้ว ก็ควรจะได้กลับไปสำรวจตรวจสอบความรู้ตามวิชานิติปรัชญาที่เคยเรียนมา[2] ว่ากล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอย่างไร (วิชานี้ก็เป็นวิชาที่ผมชอบมากเลย) โดยนิติปรัชญาได้มีการแบ่งประเภทความรู้ของวิชานิติศาสตร์ไว้ตามสาขาปรัชญาต่างๆ ได้แก่
อภิปรัชญา (Metaphysics) ศึกษาว่ากฎหมายที่แท้จริงคืออะไร
ญาณปรัชญา (Epistemology) ศึกษาว่าจะรู้กฎหมายได้อย่างไร ตรงไหน ใครเป็นผู้กำหนดกฎหมาย
จริยปรัชญา (Ethics) ศึกษาว่ากฎหมายดีหรือไม่ดีอย่างไร ยุติธรรมหรือไม่ อันนี้แหละที่ตรงกับความหมายที่กล่าวไว้ เพราะต้องศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมเป็นหลัก เป็นการประเมินคุณค่าของกฎหมาย ซึ่งเป็นอุดมคติอยู่มากเหมือนกัน
ซิเซโรกล่าวว่า “ความยุติธรรมคือ เจตจำนงอันแน่วแน่ตลอดกาลที่จะพึงให้แก่ทุกคนในส่วนที่เขาควรจะได้”

นอกจากนี้ยังมีนิติปรัชญาทางเลือก[3] ซึ่งมีแนวความคิดที่น่าสนใจอันหนึ่งกล่าวว่า

“กฎหมายเป็นเรื่องของการเมือง”

ข้อนี้ผมเคยทบทวนอยู่หลายครั้งแล้วก็พบว่ามีความถูกต้องในแง่ที่เป็นนิติศาสตร์ตามข้อเท็จจริง[4] กล่าวคือ พิจารณาดูว่ากฎหมายเกิดขึ้นมาได้อย่างไรตามประวัติศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องของการเมืองซะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคทุนนิยมประชาธิปไตยอย่างในปัจจุบัน ตามความหมายนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ใช่คำสั่ง ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดความถูกผิด แต่เป็นเรื่องของการเมืองล้วนๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา อันนี้ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากว่าหากได้มีการพัฒนาต่อยอดต่อไปแล้ว กฎหมายจะกลายเป็นเครื่องมือของนักรัฐศาสตร์เป็นแน่แท้ เป็นการลดสถานะจากที่เคยคัดคานความเห็นระหว่างนักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์กันมาก่อน

ที่กล่าวมาเป็นเนื้อหาจากที่เรียนมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับบันทึกนี้ แต่ก็ยังเห็นว่ามีความไม่สมบูรณ์อยู่มาก ควรที่จะได้ยกเอาคำสอนของท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) เรื่อง นิติศาสตร์แนวพุทธ[5] ซึ่งผมเห็นว่า ครอบคลุมมากกว่า และตรงเข้าสู่ประเด็นอย่างมากที่สุดมากล่าวไว้ด้วย โดยท่านได้เปรียบเทียบกฎหมายกับวินัย ซึ่งในทางพุทธศาสนา วินัย แปลว่า การจัดตั้งวางระบบแบบแผน และสรุปเป็นหลักการพื้นฐานที่ตรงกับเนื้อหาในบันทึกนี้ว่า

“กฎหมาย ต้องมาจากธรรม ต้องชอบธรรม และต้องเพื่อธรรม”
“จุดหมายของสังคม คือ จุดหมายของกฎหมาย แต่สุดท้ายจุดหมายของกฎหมายต้องสนองจุดหมายของชีวิตคน”
และที่ผมเห็นว่าเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดคือ
“กฎหมายเป็นเครื่องจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผล มีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย”

ซึ่งในความหมายนี้อาจกล่าวได้อีกอย่างว่า การมีกฎหมายมีไว้เพื่อจัดการปกครอง เพื่อทำให้เกิดสังคมที่ดี ที่คนมีโอกาสพัฒนาชีวิตที่ดีงาม ซึ่งตามความหมายนี้เองที่ผมเห็นว่าเป็นความหมายของความยุติธรรมที่วิชากฎหมายจะต้องแสวงหา

P. Bunara
23 เมษายน 2548

[1] นักคณิตศาสตร์ชาวฮังการีที่มีความสามารถได้รับการยอมรับสูงสุด จนมีการจัดเลขลำดัลแอร์ดิช ซึ่งหมายถึง คนที่ได้เคยทำงานร่วมกับแอร์ดิช เลข 1 หมายถึง คนที่เคยทำงานร่วมกับเขาโดยตรง เลข 2 หมายถึง คนที่เคยทำงานร่วมกับคนที่เคยทำงานร่วมกับเขา เป็นต้น จากหนังสือเรื่อง คนที่รักเพียงตัวเลข (A man who love only numbers)
[2] อ้างอิงกับวิชานิติปรัชญาและหนังสือของ อ.สมยศ เชื้อไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[3] อ้างจากหนังสือนิติปรัชญาทางเลือกของ อ.สุปรีชา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[4] นิติปรัชญา พิจารณาเฉพาะในแง่นิติศาสตร์ได้แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ นิติศาสตร์ในแง่แบบแผน (Legal Science of Norms) นิติศาสตร์ในแง่ข้อเท็จจริง (Legal Science of Facts) และนิติศาสตร์ในแง่คุณค่า (Legal Science of Value)
[5] โดยท่านกล่าวไว้ว่าตามความหมาย นิติศาสตร์ หมายถึง ศาสตร์แห่งการนำ หรือจัดดำเนินการ ซึ่งอาจขยายความหมายว่าเป็นศาสตร์แห่งการนำคน หรือการนำกิจการของรัฐหรือการทำหน้าที่ของผู้นำ ความหมายไปในทำนองเดียวกันกับ รัฐศาสตร์ ซึ่งก็มีคำอีกคำหนึ่งที่ตรงกับเรื่องของกฎหมายมากกว่า คือ ธรรมศาสตร์ ซึ่งแปลว่า วิชาที่ว่าด้วยหลักการ เพราะ ธรรม แปลว่า หลักการ